7 ข้อควรรู้ เลือกซื้อประกันชีวิตที่ใช่สำหรับมือใหม่ อัพเดตปี 2024
การทำประกันเป็นเครื่องมือวางแผนการเงินที่จะช่วยให้คุณและครอบครัวมีความมั่นคงและลดความเสี่ยงกับเหตุการณ์ไม่แน่นอนในอนาคต หากคุณเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยทำประกันชีวิตมาก่อน บทความนี้จะช่วยให้เข้าใจพื้นฐานและข้อควรพิจารณาก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตทุกประเภทเลยค่ะ
1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิต
ในบริบทของประกันชีวิตหรือประกันภัยทั่วไป
ผู้เอาประกัน (Policyholder):
- คือบุคคลหรือองค์กรที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยนั้น ๆ
ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary):
- คือบุคคลหรือองค์กรที่มีสิทธิ์ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น การเสียชีวิตของผู้เอาประกัน
- ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินหรือสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น เงินชดเชย เงินประกัน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ
2. ประเภทของประกันชีวิตหลัก
มีประกันชีวิตหลักหลายประเภทที่คุณสามารถเลือกได้ตามความต้องการ
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา/จำกัดระยะเวลา (Term Life Insurance)
ให้ความคุ้มครองในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี เป็นต้น ค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่มีการสะสมมูลค่าเงินสด ถ้าไม่มีการเสียชีวิตก็จะไม่มีการจ่ายเงินคุ้มครอง ไม่มีเงินคืนใดๆเมื่อครบกำหนดสัญญาตามแบบประกัน
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ในช่วงที่มีหนี้สินหรือภาระทางการเงินสูง
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
เน้นให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตโดยผู้รับประกัน (บริษัทประกัน) อาจจะกำหนดสัญญาระยะยาวไว้ที่อายุ 90 หรือ 99 ปี ค่าเบี้ยประกันจะสูงกว่าแบบชั่วระยะเวลา แต่มีการสะสมมูลค่าเงินสดที่สามารถกู้ยืมได้ในอนาคต และจะได้รับเงินคืนตามทุนประกันเมื่อครบกำหนดสัญญา ใช้เป็นการออมทรัพย์ระยะยาวได้
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างมรดกให้แก่ครอบครัว หรือมีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉิน
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)
เป็นการรวมระหว่างการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ โดยจะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา หรือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเช่นกัน (หรืออาจจะได้รับเงินคืนทุกปีก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับแบบประกัน) แต่เบี้ยประกันเริ่มต้นจะสูงกว่าแบบตลอดชีพ เพราะเน้นไปทางออมทรัพย์มากกว่าและการันตีผลตอบแทนตามแบบประกัน
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บออมเงินเพื่อเป้าหมายเฉพาะ เช่น การศึกษาบุตร หรือการแต่งงาน เป็นต้น
ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)
เป็นการประกันที่ให้เงินคืนเป็นงวดๆ ส่วนใหญ่คืนเป็นรายปี เปรียบเสมือนการมีรายได้ (ที่ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ) ในช่วงหลังเกษียณอายุ โดยผู้เอาประกันจะชำระเบี้ยประกันในช่วงอายุที่ยังทำงานและเริ่มรับเงินบำนาญเมื่อเกษียณ
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความมั่นคงทางการเงินในช่วงหลังเกษียณประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ (Unit-linked Insurance)
เป็นการผสมผสานการคุ้มครองชีวิตและการลงทุน โดยเบี้ยประกันบางส่วนจะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวม ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจะไม่เหมือนแบบประกันประเภทอื่นที่กล่าวมา เพราะแบบยูนิตลิงค์จะไม่การันตีผลตอบแทนที่ผู้เอาประกันจะได้รับ
เหมาะสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องกองทุนรวม และยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ค่ะ
นอกจากประเภทของประกันชีวิตหลักที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังมีประกันสัญญาเพิ่มเติมอื่นๆ ที่นำมาแนบกับประกันชีวิตหลักรวมในเล่มเดียวกันได้ เช่น ประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงที่จ่ายเงินก้อน ประกันคุ้มครองรายได้เป็นเงินชดเชยรายวันเมื่อนอนโรงพยาบาล หรือประกันคุ้มครองสุขภาพจิตใจ เป็นต้น
เมื่อเลือกประเภทประกันชีวิต ควรพิจารณาจากเป้าหมายทางการเงินและความต้องการเฉพาะของคุณ ดังนี้
- เป้าหมายทางการเงิน: เช่น การคุ้มครองในช่วงเวลาที่มีภาระหนี้สินสูง การออมเพื่อการศึกษา หรือการสร้างมรดก
- งบประมาณ: เลือกประเภทที่เหมาะสมกับงบประมาณโดยไม่ทำให้เดือดร้อนทางการเงิน
- ความเสี่ยง: พิจารณาว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มั้ย ถ้าต้องการซื้อประกันแบบยูนิตลิงค์
3. ประเมินความต้องการและงบประมาณ
ควรเริ่มต้นด้วยการประเมินความต้องการของคุณและครอบครัว ลองพิจารณาว่าในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ครอบครัวต้องการมีเงินจำนวนเท่าใดเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้ในระยะหนึ่ง หรือความต้องการวางแผนเกษียณเพื่อดูแลตัวคุณเอง เช่น
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน: ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
- การศึกษา: ค่าเล่าเรียนของบุตร
- หนี้สิน: เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
- การเกษียณ: เงินที่ต้องการใช้ในชีวิตหลังเกษียณ
จากนั้น ตั้งงบประมาณสำหรับค่าเบี้ยประกันที่สามารถจ่ายได้โดยไม่ทำให้คุณเดือดร้อน คำนึงถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในปัจจุบันและอนาคต
4. เปรียบเทียบและเลือกบริษัทประกัน
หาข้อมูลและเปรียบเทียบบริษัทประกันต่าง ๆ ควรเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และมีบริการตามที่ต้องการได้ อาจจะพิจารณาถึง
- ความมั่นคงทางการเงินของบริษัท
- บริการหลังการขาย
เช่น การดูแลและให้คำปรึกษา การติดต่อในกรณีต่างๆ การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพในการให้บริการลูกค้า เป็นต้น
5. อย่าลืมอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ
ควรอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ของความคุ้มครองในแต่ละประเภทของประกัน เช่น
- ข้อกำหนดและเงื่อนไข รายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองและข้อยกเว้น
- ระยะเวลารอคอย เช่น ประกันสุขภาพที่มีระยะเวลารอคอย 30 วัน (สำหรับโรคทั่วไป) โดยนับจากวันที่เริ่มคุ้มครองตามสัญญา(กรมธรรม์)
ซึ่งส่วนใหญ่รายละเอียดเรื่องข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในสัญญาของแต่ละบริษัทประกันจะคล้ายๆ กันค่ะ เพราะบริษัทต้องเฉลี่ยภัยและความเสี่ยงจากข้อมูลของประชาชนคนไทยเหมือนกัน และอิงตามหลักเกณฑ์กฎหมายในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองจึงควรอ่านรายละเอียดในสัญญาอย่างถี่ถ้วน และหาคำตอบหากมีข้อสงสัยใดๆ ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันนะคะ
6. ติดตามและปรับปรุงกรมธรรม์
การทำประกันชีวิตไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวแล้วจบเลย เราควรตรวจสอบและปรับปรุงกรมธรรม์ตามการเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยค่ะ ตัวอย่างเช่น
- การแต่งงาน เพิ่มความคุ้มครองสำหรับคู่สมรส
- การมีบุตร เพิ่มความคุ้มครองสำหรับบุตร
- การเปลี่ยนแปลงทางการเงิน หากมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ควรปรับเบี้ยประกันให้เหมาะสม
- การเกษียณอายุ ตรวจสอบและปรับความคุ้มครองให้สอดคล้องกับการวางแผนเกษียณ
7. ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า
การใช้เบี้ยประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้มีรายได้สามารถลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย โดยการซื้อประกันชีวิตที่มีระยะเวลาความคุ้มครองและเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดจะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ค่ะ การทำประกันชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับการวางแผนภาษี และยังเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเงินด้วยนั่นเอง ดังนั้นอย่าลืมทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อให้คุณสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่นะคะ
คำแนะนำเพิ่มเติม จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิต
ศึกษาข้อมูลและถามคำถาม
การทำประกันชีวิตเป็นการวางแผนที่สำคัญ ควรศึกษาข้อมูลของแบบประกันที่สนใจ และให้ตัวแทนช่วยอธิบายเสริมในแง่อื่นๆ พร้อมกับตอบคำถามในเรื่องที่คุณสงสัยได้ เพราะการหาข้อมูลและตัดสินใจทั้งหมดด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ครอบคลุมทุกเรื่องที่ผู้เอาประกันควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ
เริ่มต้นด้วยเบี้ยประกันที่เหมาะสม
ถ้าเลือกทำประกันที่ได้รับผลประโยชน์สูง แน่นอนว่าต้องดีอยู่แล้วค่ะ แต่จะตามมาด้วยการจ่ายเบี้ยประกันสูงตามเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนการเงินและสภาพคล่องของตัวเราเองก็สำคัญ ควรเลือกเบี้ยประกันที่สามารถจ่ายได้อย่างสม่ำเสมอและไม่ทำให้เดือดร้อนเรื่องเงิน เพราะสุดท้ายหากจ่ายเบี้ยไม่ครบตามสัญญา อาจจะทำให้เสียผลประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะถ้าแบบประกันนั้นเป็นประเภทสะสมทรัพย์ด้วยค่ะ
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
การพูดคุยและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิตหรือตัวแทนมืออาชีพ จะทำให้คุณตัดสินใจได้อย่างมั่นใจขึ้น ดังนั้นการเลือกตัวแทนที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้คุณและครอบครัวได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำ ไปจนถึงบริการหลังการขาย โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่ควรทำในระยะยาวและมีรายละเอียดเยอะ การแนะนำในเรื่องเคลมค่ารักษา ติดตาม หรือประสานงานต่างๆจึงสำคัญ เพราะฉะนั้นหากมีที่ปรึกษาอย่างตัวแทนมืออาชีพในด้านนี้จริงๆ จะช่วยให้คุณและครอบครัวสะดวกและคลายกังวลได้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพในอนาคตค่ะ
สรุป
การทำประกันชีวิตเป็นการวางแผนทางการเงินพื้นฐานที่สำคัญ ยิ่งถ้าหากเป็นมือใหม่ การเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลและรับคำแนะนำจากตัวแทนประกันชีวิตมืออาชีพจะช่วยให้คุณทำการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะต้องการความคุ้มครองระยะสั้น ระยะยาว หรือมีเป้าหมายทางการเงินแบบใดก็ตาม การเลือกทำประกันชีวิตอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจในทุกช่วงเวลา
หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษามืออาชีพในด้านประกัน ตัวแทนของเรายินดีให้คำแนะนำคุณในทุกขั้นตอน
เริ่มต้นวางแผนวันนี้ เพื่ออนาคตที่มั่นคงของคุณและครอบครัวนะคะ ☺️